เลี้ยงลูกวัยรุ่นอย่างไรให้เข้าถึง “หัวใจ”

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แบ่งช่วงอายุของ “วัยรุ่น” ออกเป็น 3 ระยะคือ วัยรุ่นตอนต้น (ช่วงอายุ 10-13 ปี) วัยรุ่นตอนกลาง (ช่วงอายุ 14-16 ปี) และวัยรุ่นตอนปลาย (ช่วงอายุ 17-19 ปี) แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าเด็ก ๆ จะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเร็วกว่าที่กำหนดไว้มาก

ทั้งนี้เพราะ “สื่อออนไลน์” ที่เข้าถึงได้ง่าย มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาทางความคิดของเด็ก ๆ ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยเยาว์ไปสู่วัยรุ่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรให้ความสนใจ และใส่ใจพวกเขาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านความคิดของเด็กวัยรุ่น

ซึ่งต้องการเป็นที่ยอมรับจากคนรอบข้าง ต้องการความเชื่อถือ และความไว้วางใจจากพ่อแม่ และที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขากำลังต้องการพื้นที่ความเป็นส่วนตัว ที่บางครั้งอาจดูเหมือนกำลังถอยห่างจากพ่อแม่ออกไปทุกทีๆ แต่ไม่หรอก…ความจริงแล้ว วัยรุ่นทุกคนยังคงต้องการคำปรึกษาจากพ่อแม่อยู่เสมอ ซึ่งถ้าเราพยายามทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้มากขึ้นอีกสักนิด เข้าให้ถึง “หัวใจ” ของ “วัยรุ่น” ช่องว่างระหว่างวัยที่แตกต่าง ก็จะกลับมาแนบชิดสนิทกันอีกครั้ง…

9 เทคนิคการรับมือกับลูกวัยรุ่น

1.เอาใจลูกมาใส่ใจเรา

พ่อแม่ทุกคนก็คงจะเคยเป็นวัยรุ่นมาก่อนเช่นเดียวกับลูก แม้ว่าประสบการณ์ในช่วงวัยนั้นของพ่อแม่ จะแตกต่างจากวัยของลูกในยุคปัจจุบันก็ตาม แต่สิ่งที่พ่อแม่ทุกคนเคยเป็นมาในช่วงวัยรุ่น กับลูกของคุณที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นนี้ ก็คงไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นจง “เอาใจลูก มาใส่ใจเรา” พูดคุยกับพวกเขาด้วยความเข้าใจ ไม่ตอบโต้กันด้วยการใช้อารมณ์ และความรุนแรง นอกจากนี้พ่อแม่ควรจะพร้อมเสมอสำหรับรับฟังความคิดเห็นของลูก ด้วยความเข้าใจ แสดงความคิดเห็นต่อทัศนคติที่แตกต่างของลูก ด้วยน้ำเสียงอันเป็นมิตร มิใช่การด่าทอ และการใช้วาจาที่ร้ายกาจ หยาบคาย เพราะจะทำให้ทุกสิ่งยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

2.เคารพซึ่งกันและกัน

การให้ความเคารพในสิทธิ และพื้นที่ความเป็นส่วนตัว รวมถึงการยอมรับฟังความคิดเห็นของลูก ถือเป็นการให้เกียรติ์ เสมือนว่าพวกเขาคือผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่มีสิทธิและเสรีภาพเสมอภาคกับทุกคนในครอบครัว การให้ความเคารพต่อลูก (แม้ว่าเราจะเป็นพ่อแม่ก็ตาม) จะทำให้พวกเขารู้สึกว่า ตนเองคือส่วนหนึ่งในครอบครัว พวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง แต่ยังมีพ่อและแม่ (รวมถึงผู้ปกครอง) ที่คอยดูเขาอยู่ห่างๆ และพร้อมจะยืนเคียงข้างพวกเขาเสมอ

3.ห่วงใยได้ แต่ต้องไม่ควบคุม

และแทรกแซงความเป็นส่วนตัว เช่น ความพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูก ด้วยการอยากรู้ทุกเรื่องของลูก โดยการเข้าไปค้นห้องนอน ค้นตู้เสื้อผ้า หรือลิ้นชักเก็บของส่วนตัว หรือแม้กระทั่งการอ่านสมุดบันทึก อ่านไลน์ รวมถึงการเช็คข้อความในโทรศัพท์ของลูก เพราะนั่นจะทำให้พวกเขาโกรธมาก เขาจะระแวง และไม่ไว้ใจพ่อแม่อีกต่อไป ช่องว่างระหว่างวัยก็จะยิ่งห่างไกลกันออกไปเรื่อย ๆ จนยากที่จะกลับมาแนบชิดสนิทกันได้ดังเดิมอีกต่อไป

4.บอกรักผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น พูดคุย เช่น การรับประทานอาหารร่วมกัน ช่วยกันทำอาหาร หรือการจัดสวน ปลูกต้นไม้ หรือหากอยู่ไกลกัน พ่อแม่อาจจะใช้วิธีการโทรศัพท์ บอกพวกเขาว่า พ่อแม่คิดถึง รักและห่วงใยลูกเสมอ ที่สำคัญคือการใช้ “คำพูด” และ “น้ำเสียง” โปรดจำไว้เสมอว่า ความห่วงใย ต้องไม่ใช่การจับผิด เพราะลูกจะรู้สึกต่อต้าน และเริ่มที่จะออกห่างจากพ่อแม่มากขึ้น เมื่อพวกเขาไม่ไว้ใจคุณ!

5.เปิดใจให้กว้าง

พร้อมจะเปิดประตูรับเพื่อนของลูก และถ้าเป็นไปได้ คุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จักครอบครัวของเพื่อนลูกด้วย จะเป็นการดีมาก เพราะการแลกเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ และความคิดเห็นระหว่างครอบครัว จะช่วยให้ต่างฝ่าย ได้ทำความรู้จักกับลูกชาย และลูกสาววัยรุ่นของตนเองมากยิ่งขึ้น

6.กฎเกณฑ์ ไม่ใช่กฎหมาย

แน่นอนว่าทุกบ้านย่อมต้องมีกฎเกณฑ์ ในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในครอบครัว เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทว่า กฎเกณฑ์นั้นต้องไม่ใช่กฎหมาย ที่ถูกตราขึ้นเพื่อเป็นข้อบังคับ ให้ทุกคนปฏิบัติตาม มิเช่นนั้นอาจต้องติดคุก หรือถูกกักขัง เพราะมันจะยิ่งทำให้ลูกๆ ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น มีพฤติกรรมต่อต้านมากยิ่งขึ้น หรือที่เรียกว่า “ยิ่งห้าม ก็เหมือนยิ่งยุ” ดังนั้นการสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นในครอบครัว ทุกคนควรมีส่วนในการตัดสินใจ หรือแสดงความคิดเห็น เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน นั่นเอง

7.รู้เขา รู้เรา

พ่อแม่ทุกคนควรมีเวลามากพอ ที่จะทำความเข้าใจกับการเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นของลูก โดยการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของวัยรุ่น เพื่อที่จะได้นำมาปรับใช้ได้อย่างถูกต้อง ก่อนจะเกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อแม่ และลูกวัยรุ่น ซึ่งถ้าพ่อแม่ได้เปิดใจคุยกับลูกเสียแต่เนิ่นๆ สอนเขาในสิ่งที่ควรรู้ และให้ความสำคัญ เช่น การให้เกียรติ์ผู้หญิง เรื่องของยาเสพติด การมีเพศสัมพันธุ์ ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้นด้วย นั่นเอง

8.คาดหวังได้ แต่อย่าให้สูงเกินไป

พ่อแม่ทุกคนล้วนตั้งความหวังไว้กับลูก ต้องการให้ลูกเป็นในสิ่งที่ตนเองต้องการ ทว่า ความคาดหวังที่สูงเกินไปนั้น อาจทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกอึดอัด และอยากจะหนีไปให้พ้นจากปัญหา และแรงกดดันที่เขาได้รับ จนนำไปสู่ปัญหาความไม่เข้าใจกัน การปลีกตัวออกห่าง การคบเพื่อนในทางที่ผิด จนอาจนำไปสู่ปัญหายาเสพติด และสิ่งมอมเมาได้ในที่สุด

9.สังเกตสัญญาณอันตราย

เช่น มีความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรม จากหน้ามือเป็นหลังมือ น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมากผิดปกติ นอนไม่หลับ หรือไม่ยอมนอน หมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนมากเกินไป เกรดตก โดดเรียน พูดถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย (แม้จะเป็นการพูดเล่นก็ตาม) เริ่มสูบบุหรี่และใช้สารเสพติด ซึ่งพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากปกติเหล่านี้ อาจต้องมีการพบแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษา และทำการตรวจวินิจฉัยอย่างใกล้ชิด

ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และแทบจะทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะความคิด จิตใจ และพฤติกรรมการแสดงออกที่ผิดแผกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จนเป็นที่มาของปัญหาต่างๆ ที่พ่อแม่หลายคนต้องพบเจอ แต่ถ้าพ่อแม่มองกลับไปอีกด้าน จะได้เห็นถึงการเจริญเติบโตทางความคิดของลูกๆ ที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อนตลอดช่วงเวลาที่พวกเขาเป็นเด็ก ซึ่งหากพ่อแม่ทุกคนให้ความใส่ใจ และกระตือรือร้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในความคิดของลูก พร้อมที่จะเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงของพวกเขาอย่างเข้าใจ เว้นช่องว่างให้พวกเขาได้มีพื้นที่อิสระ มีเสรีภาพที่จะเลือกคิดและทำสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผล โดยมีพ่อและแม่คอยเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำอยู่ใกล้ๆ เวลาที่พวกเขาต้องการ พ่อแม่อาจแสดงความห่วงใยพวกเขาอยู่ห่างๆ ไม่ก้าวล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวที่เขาหวงห้าม ลูกๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ก็จะไม่ถอยห่างไปจากพ่อแม่ไปไหน เพราะพวกเขารู้ว่า ยามใดที่เขามีปัญหา ยังมีพ่อแม่คอยห่วงใย ใส่ใจพวกเขาอยู่เสมอ นั่นเอง

อ้างอิง ignitethailand.org, ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย, istrong.co